Tindemans, Leonard Clemence; Tindemans, Leo (1922–2014)

นายเลียวนาร์ด เคลเมนซ์ ทินเดมานส์, นายเลโอ ทินเดมานส์ (พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๕๕๗) (พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๕๕๗)

 เลียวนาร์ด เคลเมนซ์ ทินเดมานส์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ เลโอ ทินเดมานส์ เป็นนักการเมืองนักสหพันธ์นิยม และนักยุโรปนิยมชาวเบลเยียมเขาเป็นนายกรัฐมนตรี ๒ สมัยของรัฐบาลผสมหลายพรรคระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๔–๑๙๗๘ และเป็นรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง รวมทั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย ทินเดมานส์มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญเบลเยียมฉบับ ค.ศ. ๑๙๗๑ ที่เปลี่ยนการปกครองประเทศจากแบบรวมศูนย์มาเป็นแบบสหพันธ์ ในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี เขามีบทบาทโดดเด่นในการจัดทำ “รายงานทินเดมานส์ว่าด้วยสหภาพยุโรป” (Tindemans Report on European Union) ให้แก่ประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community–EC)* ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทสำหรับการจัดตั้งสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union–EU)* ในทศวรรษ ๑๙๗๐ แม้ว่ารายงานฉบับนี้จะไม่ได้ถูกนำไปใช้ในช่วงนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นแผนจัดตั้งสหภาพยุโรปฉบับแรกที่มีความสมบรูณ์อย่างรอบด้านเป็นครั้งแรกและเสนอให้สหภาพยุโรปมีนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (CommonForeignandSecurityPolicy–CFSP) เป็นของตนเองซึ่งถือเป็นความคิดที่ก้าวหน้าในขณะนั้นนอกจากนี้ ทินเดมานส์ยังได้เป็นสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament–EP) เป็นเวลาหลายปี

 ทินเดมานส์เกิดในครอบครัวชาวเบลเยียมเชื้อสายดัตช์ผสมเฟลมมิช (Dutch-Flemish) เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่เมืองซไวน์เดรชท์ (Zwijndrecht) ในแคว้นฟลานเดอส์ (Flanders) เขาเป็นบุตรของฟรันส์ ทินเดมานส์ (Frans Tindemans) และมาร์กาเรทา เวอร์ครุยส์เซน (Margaretha Vercruyssen) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกทั้งคู่ ทินเดมานส์ศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านการทูต บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป (Antwerp) มหาวิทยาลัยเกนต์ (Ghent) และมหาวิทยาลัยลูแวง (Louvain) หลังสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ทินเดมานส์ได้เข้าสู่ชีวิตทางการเมืองทันทีโดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการพรรคประชาชนคริสเตียนหรือซีวีพี (Christian People’s Party–CVP) ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในภูมิภาคทางตอนเหนือของแคว้นฟลานเดอส์

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ ทินเดมานส์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเมืองแอนต์เวิร์ปเป็นครั้งแรก และได้รับเลือกตั้งติดต่อกันอีกหลายครั้งคือใน ค.ศ. ๑๙๖๕, ๑๙๖๘, ๑๙๗๑, ๑๙๗๔, ๑๙๗๗, และ ๑๙๗๘ ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๑ นอกจากนี้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๕–๑๙๗๘ เขายังได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเอดเก็ม (Egegem) และได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการกลุ่มคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democrats) ในรัฐสภายุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๕–๑๙๗๓ ด้วย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๘–๑๙๗๒ เมื่อพรรคประชาชนคริสเตียนได้เข้าร่วมรัฐบาลโดยมีกาสตัน ไอส์เคนส์ (Gaston Eyskens) เป็นนายกรัฐมนตรี ทินเดมานส์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความสัมพันธ์ระหว่างประชาคมของประชากร [(Ministry of Communitarian Relations) เบลเยียมมีประชากรที่ประกอบด้วยชน ๒ เชื้อชาติหลักที่มีความแตกต่างกันทางด้านวัฒนธรรม ภาษา และนิกายศาสนาอย่างชัดเจน คือ พวกเฟลมมิช (Flemish) และพวกวัลลูน (Walloon) รัฐบาลจึงต้องแต่งตั้งกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลประชาคมทั้งสองของประเทศโดยเฉพาะ] เขามีบทบาทสำคัญในการเตรียมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๗๑ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างพวกเฟลมมิชกับพวกวัลลูน โดยเปลี่ยนการปกครองประเทศแบบดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมาเป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจในระบบสหพันธ์ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ทินเดมานส์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และใน ค.ศ. ๑๙๗๓ เมื่อเอดมอนด์ เลเบอร์ตัน (Edmond Leburton) เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงงบประมาณ

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ทินเดมานส์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกโดยเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคคริสเตียนเดโมแครตร่วมกับพรรคเสรีนิยม (Liberals) และในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมนี้ได้ไม่นานทินเดมานส์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักยุโรปนิยมและนักสหพันธ์นิยมที่แข็งขันยังได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมสุดยอดของประชาคมยุโรป (European Council) ที่กรุงปารีส ให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำรายงานอย่างรอบด้านเพื่อเสนอความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสหภาพยุโรปขึ้นในเวลาอันใกล้ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้นำชาติสมาชิกหลายประเทศที่ต้องการเปลี่ยนความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ ในประชาคมยุโรปให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในลักษณะของสหภาพยุโรปดังที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาโรม (Treaty of Rome ค.ศ. ๑๙๕๗)* คณะกรรมการทินเดมานส์เริ่มดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยรายงานของสถาบันต่าง ๆ การหารือกับรัฐบาลชาติสมาชิก และผลการสำรวจความเห็นจากประชาชนในประชาคมยุโรปเป็นพื้นฐาน แม้ว่าเขาจะประสบอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายทั้งจากทางด้านสถาบันของประชาคมที่ตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้หลายประการ และจากชาติสมาชิกที่มีทั้งประเทศที่มีความกระตือรือร้นที่จะขับเคลื่อนกระบวนการการบูรณาการในขั้นต่อไปให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วอย่างเช่น อิตาลี และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* และประเทศที่ไม่สนับสนุนการบูรณาการยุโรปเท่าใดนัก อย่างเช่น เดนมาร์กแต่ทินเดมานส์ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี แม้แต่อังกฤษซึ่งไม่สนับสนุนการบูรณาการยุโรปมาแต่ต้น แต่หลังการแสดงประชาชามติในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๕ ซึ่งประชาชนชาวอังกฤษส่วนใหญ่แสดงความต้องการให้อังกฤษยังคงเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปต่อไปก็ได้ให้ความร่วมมือกับทินเดมานส์และคณะทำงานของเขาเป็นอย่างดี

 ทินเดมานส์เสนอผลการดำเนินงานที่รู้จักกันในชื่อ “รายงานทินเดมานส์ว่าด้วยสหภาพยุโรป” หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “รายงานทินเดมานส์” (Tindemans Report) ต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ รายงานดังกล่าวเสนอให้มีการจัดตั้งสหภาพยุโรปโดยทำการปฏิรูปสถาบันต่าง ๆ อย่างรอบด้านและกว้างขวางเพื่อเปลี่ยนประชาคมยุโรปให้เป็นสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ตามขั้นตอนที่เขากำหนดระยะเวลาไว้ค่อนข้างยาวนานเพื่อให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ฉะนั้น สหภาพยุโรปตามข้อเสนอของทินเดมานส์จะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจการเงิน (Economic and Monetary Union–EMU)* ขึ้นภายในสหภาพยุโรปโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การมีเงินสกุลเดียวใช้ร่วมกันตามข้อเสนอของปีแยร์ แวร์เน (Pierre Werner)* ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ ทั้งยังเสนอให้สหภาพยุโรปที่จะจัดตั้งขึ้นนี้มีนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคงเป็นของตนเองอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้สมาชิกสหภาพยุโรปสามารถกำหนดและดำเนินนโยบายในเวทีต่างประเทศร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ

 ส่วนในด้านสถาบัน ทินเดมานส์เสนอแนะอย่างแข็งขันให้มีการเพิ่มอำนาจให้แก่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และรัฐสภายุโรปให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรัฐสภายุโรป ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาโดยตรงแทนการแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของชาติสมาชิกแต่ละชาติซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนประชาคมยุโรปอย่างแท้จริง ให้มีการเพิ่มอำนาจทางนิติบัญญัติแก่รัฐสภายุโรปมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อแก้ความไม่สมดุลทางประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งให้สถาปนาระบบการประชุมสุดยอดยุโรปให้เป็นระบบถาวรโดยให้บรรจุไว้ในกรอบของสนธิสัญญาที่จะจัดทำขึ้นใหม่ และให้ที่ประชุมดังกล่าวมีอำนาจแต่งตั้งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้วย นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มีการบูรณาการประชาคมยุโรปในภาคอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะในด้านนโยบายสังคมและนโยบายภูมิภาคจำเป็นต้องมีการบูรณาการให้ลึกและเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนชาวยุโรปในเรื่องที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าและนโยบายใหม่ ๆ ของประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปอย่างกว้างขวางและใกล้ชิดประชาชนให้มากขึ้นกว่าเดิม

 ข้อเสนอที่ปรากฏในรายงานทินเดมานส์ล้วนเป็นหลักการสำคัญ ๆ ที่มีอยู่ในสหภาพยุโรปปัจจุบันทั้งสิ้น แต่ในขณะนั้นบรรดาชาติสมาชิกของประชาคมยุโรปยังมีความเห็นและนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันเพราะบางประเทศแม้จะเห็นด้วยกับข้อเสนอของเขาแต่ก็เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าและเร็วเกินไปจึงไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามบางประเทศก็ยังมีกลุ่มที่มีความเคลือบแคลงต่อการบูรณาการ ในขณะที่บางประเทศคัดค้านข้อเสนอหลักในบางเรื่องของทินเดมานส์อย่างรุนแรงเพราะขัดต่อผลประโยชน์ของชาติตนโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งต่อต้านข้อเสนอของทินเดมานส์แทบทุกประเด็น แม้ว่าประเทศทั้งสองจะมีความเห็นต่างกันก็ตาม สำหรับอังกฤษนั้นนอกจากไม่ต้องการให้มีการบูรณาการประชาคมยุโรปให้ลึกและเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่แล้ว ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทินเดมานส์ที่เสนอให้ประเทศที่พร้อมจะบูรณาการดำเนินการไปก่อนประเทศที่ยังไม่พร้อมได้เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการบูรณาการที่เรียกว่า “ยุโรปใน ๒ ระดับ” (Two-speed Europe; Two-tier Europe) ตามที่ทินเดมานส์ให้คำนิยามไว้ แม้เยอรมนีตะวันตกจะแสดงท่าทีสนับสนุนข้อเสนอของรายงานฉบับนี้ แต่ก็ยังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิรูประบบการเงินของตนก่อนเข้าร่วมระบบการเงินของประชาคมยุโรป ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรปก็ไม่เห็นด้วยกับรายงานทินเดมานส์เพราะไม่ต้องการถูกแบ่งแยกอำนาจในการเสนอข้อริเริ่มทางนิติบัญญัติไปให้รัฐสภายุโรป ฉะนั้น แม้ว่าจะได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในที่ประชุมสุดยอดยุโรปทุกครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ต่อมาจนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๗๖แต่รายงานทินเดมานส์ก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติ

 อย่างไรก็ดี ในการจัดทำร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (Draft Treaty Establishing the European Union) ของอัลตีเอโร สปีเนลลี (Altiero Spinelli)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๔ และการแก้ไขสนธิสัญญาโรมครั้งต่าง ๆ ในเวลาต่อมาโดยเฉพาะการจัดทำกฎหมายยุโรปตลาดเดียว (Single European Act)* ค.ศ. ๑๙๘๖ และการจัดทำสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ค.ศ. ๑๙๙๒ คณะกรรมการดำเนินงานชุดต่าง ๆ ได้นำรายงานทินเดมานส์มาพิจารณาทุกครั้งและข้อเสนอของเขาก็ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาทุกฉบับที่จัดทำขึ้นในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) ค.ศ. ๑๙๙๗ หรือสนธิสัญญาลิสบอน (Treaty of Lisbon) ค.ศ. ๒๐๐๗ ก็ตามล้วนแต่มีหลักการ ข้อเสนอและบทบัญญัติหลายประการของรายงานทินเดมานส์ปรากฏอยู่ด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ ระหว่างการประชุมใหญ่เพื่อจัดตั้งพรรคประชาชนยุโรป (European People’s Party) เพื่อให้เป็นพรรคตัวแทนของเบลเยียมในรัฐสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ทินเดมานส์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ทำให้เขามีบทบาทสำคัญในการแสวงหานโยบายร่วมระหว่างพรรคต่าง ๆ ในรัฐสภายุโรปเพื่อเตรียมการเลือกตั้งโดยตรงของรัฐสภายุโรปที่จะจัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๙ อย่างไรก็ดี ในต้น ค.ศ. ๑๙๗๗ ทินเดมานส์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะรัฐบาลของเขาหมดอำนาจลง เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าในขณะนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างชน ๒ เชื้อชาติที่รัฐบาลทุกรัฐบาลได้เผชิญมาโดยตลอด แม้จะได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกไปแล้วใน ค.ศ. ๑๙๗๑ ก็ตาม

 ในเดือนเมษายนต่อมา ทินเดมานส์จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่าพรรคประชาชนคริสเตียนได้ชัยชนะ ทินเดมานส์จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ และได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่โดยประกอบด้วยพรรคคริสเตียนเดโมแครต พรรคสังคมนิยม และพรรคชาตินิยมเฟลมมิช แต่รัฐบาลอยู่ได้ไม่นานก็หมดอำนาจลงอีกครั้งในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๘ เนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างพวกเฟลมมิชกับพวกวัลลูนที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขให้ยุติลงได้เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนต้น ค.ศ. ๑๙๗๗ ทั้งยังมีท่าทีว่าจะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น พอล ฟานเดิน บอยนันทส์ (Paul Vanden Boeynants) แห่งพรรคฮิวแมนิสเดโมแครติกเซ็นเตอร์ (Humanist Democratic Centre) จึงเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๙ ทินเดมานส์ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป เขาได้รับเลือกตั้งโดยได้คะแนนถึง ๙๘๓,๐๐๐ เสียง ซึ่งถือว่าเป็นสถิติสูงสุดของการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปของเบลเยียมจนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. ๒๐๑๔) เขาเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๑ ก็ลาออกเพื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเบลเยียมในการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นในปีเดียวกันและมีชัยชนะ ต่อมาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๑–๑๙๘๙ เมื่อพรรคประชาชนคริสเตียนได้เข้าร่วมรัฐบาลครั้งที่ ๕และ ๖ ของวิลฟรีด มาร์เทนส์ (Wilfried Martens) แห่งพรรคคริสเตียนเดโมแครตและเฟลมมิช (Christian Democratic and Flemish Party) ทินเดมานส์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาจึงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการบูรณาการยุโรปร่วมกับผู้แทนชาติสมาชิกอื่น ๆ ของประชาคมยุโรปหลายครั้ง เช่น การเจรจารับกรีซ สเปน และโปรตุเกสให้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ และการให้ความร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศสและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกในการลงนามในความตกลงเชงเงิน (Schengen Agreement)* ค.ศ. ๑๙๘๕ ที่ลักเซมเบิร์กซึ่งทำให้การเดินทางเข้าออกของประชาชนในประเทศผู้ลงนามทั้งห้ากระทำได้อย่างเสรี ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ประชาคมยุโรปเป็นยุโรปที่ไร้พรมแดน นอกจากนี้ทินเดมานส์ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำกฎหมายยุโรปตลาดเดียว ค.ศ. ๑๙๘๖ รวมทั้งอยู่ในกลุ่มผู้แทนประเทศที่ผลักดันให้มีการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิก (Intergovernmental Conference–IGC) ขึ้น ๒ การประชุมในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ เพื่อจัดตั้งสหภาพยุโรปที่ประกอบด้วยสหภาพเศรษฐกิจการเงินและสหภาพการเมืองให้เป็นผลสำเร็จ

 ทินเดมานส์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน ค.ศ. ๑๙๘๙ หลังจากนั้นเขาได้ยุติบทบาททางการเมืองภายในประเทศ เพื่อหันมาทำงานระหว่างประเทศให้ประชาคมยุโรปซึ่งอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากประชาคมยุโรปเป็นสหภาพยุโรปในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ เขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๙–๑๙๙๙ ติดต่อกันรวม ๒ สมัย นอกจากการทำหน้าที่ในรัฐสภายุโรปอย่างแข็งขันแล้ว ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๔–๑๙๙๕ สหภาพยุโรปยังได้แต่งตั้งทินเดมานส์ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการทำหน้าที่สืบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทในคาบสมุทรบอลข่าน (Balkans) ต่อมา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสในคณะกรรมการดำเนินงานของกลุ่มจัดการวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ (International Crisis Management Group) ของสหภาพยุโรปด้วย

 หลังครบวาระการดำเนินงานในสหภาพยุโรปใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ทินเดมานส์ในวัย ๗๗ ปีได้ยุติบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศเป็นการถาวร และพำนักอยู่ในเบลเยียมมาโดยตลอด เขาได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศมากมาย เช่น ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลโอโปลด์ (Order of Leopold) จากรัฐบาลเบลเยียม และได้รับรางวัลคาร์ล (Karl Prize) หรือรางวัลชาร์เลอมาญ (Charlemagne Prize) จากนครอาร์เคิน (Archen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ทำงานดีเด่นในด้านการรักษาสันติภาพและการบูรณาการยุโรป

 ในบั้นปลายชีวิตทินเดมานส์ใช้ชีวิตอย่างสงบและถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๔ รวมอายุ ๙๒ ปี.



คำตั้ง
Tindemans, Leonard Clemence; Tindemans, Leo
คำเทียบ
นายเลียวนาร์ด เคลเมนซ์ ทินเดมานส์, นายเลโอ ทินเดมานส์ (พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๕๕๗)
คำสำคัญ
- กฎหมายยุโรปตลาดเดียว
- ความตกลงเชงเงิน
- ทินเดมานส์, เลียวนาร์ด เคลเมนซ์
- นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
- ประชาคมยุโรป
- ประชาคมยุโรปหรืออีซี
- พรรคประชาชนยุโรป
- พรรคเสรีนิยม
- รายงานทินเดมานส์
- แวร์เน, ปีแยร์
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สนธิสัญญาโรม
- สนธิสัญญาลิสบอน
- สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม
- สปีเนลลี, อัลตีเอโร
- สหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปหรืออียู
- สหภาพเศรษฐกิจการเงิน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1922–2014
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๕๕๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-